คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏสุราษฎร์ธานี ( มรส. ) จับมือ คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ( กสม. ) จัดตั้งศูนย์ศึกษาและประสานงานด้านมนุษยชน ภาคใต้ สร้างความร่วมมือส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิมนุษยชนให้แก่ประชาชนในพื้นที่ภาคใต้ ได้อย่างสะดวก รวดเร็ว และมีประสิทธิภาพ มีความสอดคล้องกับวิถีชีวิตและวัฒนธรรมในพื้นที่ สนับสนุนให้ชุมชนมีความเข้มแข็งป้องกันสิทธิของตนเองได้ เห็นศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์อย่างเท่าเทียมกัน โดยได้รับเกียรติจากนายวัส ติงสมิตร ประธานกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ , นางกรรณิการ์ ชอินทรวงศ์ ยุติธรรมจังหวัดสุราษฎร์ธานี และ รศ.ดร.ชูศักดิ์ เอกเพชร รักษาราชการแทนอธิการบดีมหาวิทยาลัยราชภัฏสุราษฎร์ธานี ร่วมพิธีเปิดศูนย์ศึกษาและประสานงานด้านมนุษยชน ภาคใต้ อย่างเป็นทางการ เมื่อวันที่ ๗ สิงหาคม ๒๕๖๐ ซึ่งตรงกับ “วันรพี” วันพระบิดาแห่งกฎหมายไทย ณ อาคารคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏสุราษฎร์ธานี
นางกรรณิการ์ ชอินทรวงศ์ ยุติธรรมจังหวัดสุราษฎร์ธานี ประธานในพิธีเปิดศูนย์ศึกษาและประสานงานด้านมนุษยชน ภาคใต้ กล่าวว่า สิทธิมนุษยชน เป็นเรื่องสำคัญในสถานการณ์โลกปัจจุบันและยิ่งทวีความสำคัญในอนาคตมากขึ้นเรื่อยๆ ปัญหาการละเมิดสิทธิมนุษยชนปรากฏให้เห็นในสื่อต่างๆ ไม่เว้นแต่ละวัน หากประชาชน เจ้าหน้าที่ของรัฐ และภาคธุรกิจเอกชนมีจิตสำนึกและตระหนักในเรื่อง “ศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์” หรือคุณค่าของคนจึงควรเคารพในความเป็นคนอย่างเท่าเทียมกันไม่เลือกปฏิบัติโดยคำนึงถึงหลักการ “สิทธิมนุษยชน” ซึ่งเป็นแนวปฏิบัติที่สำคัญในการใช้ชีวิตอยู่ร่วมกันในสังคมไม่เบียดเบียนกันและกัน ก็จะทำให้สังคมมีสันติสุขมากขึ้น
ด้าน รศ.ดร.ชูศักดิ์ เอกเพชร รักษาราชการแทนอธิการบดีมหาวิทยาลัยราชภัฏสุราษฎรธานี เปิดเผยว่า ในฐานะสถาบันอุดมศึกษาเพื่อการพัฒนาท้องถิ่นทำหน้าที่ในฐานะคนของพระราชา ทำหน้าที่ต่างพระเนตรพระกรรณ ทำงานเพื่อชุมชนท้องถิ่นเป็นสำคัญ ช่วยให้คนในท้องถิ่นรู้เท่าทันการเปลี่ยนแปลง เรียนรู้และเสริมสร้างความเข้มแข็งของผู้นำชุมชน อีกทั้งประสานความร่วมมือและช่วยเหลือเหลือเกื้อกูลกันระหว่างมหาวิทยาลัย และประชาชนในชุมชน โดยมหาวิทยาลัยราชภัฏสุราษฎร์ธานี ได้รับการพิจารณาจากคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ให้เป็นศูนย์ศึกษาและประสานงานด้านมนุษยชน ภาคใต้ เพื่อให้ประชาชนในพื้นที่ภาคใต้สามารถเข้าถึงการคุ้มครองและส่งเสริมสิทธิมนุษยชนได้โดยสะดวก รวดเร็ว และทันต่อสถานการณ์มากขึ้น นอกจากนี้ศูนย์แห่งนี้จะเป็นศูนย์กลางที่ทุกภาคส่วนได้เข้ามาใช้ประโยชน์และเป็นที่พึ่งของประชาชนในท้องถิ่นในการแก้ปัญหาของประชาชนที่ถูกละเมิดสิทธิมนุษยชน เพื่อให้เกิดการเคารพสิทธิมนุษยชนในสังคม และมหาวิทยาลัยพร้อมที่จะเติมเต็มและยื่นมือให้ความช่วยเหลือความเป็นธรรมแก่สังคมทุกรูปแบบ
ทางนายจันทรัตน์ รู้พันธ์ ชาวบ้านจาก ตำบลทรัพย์ทวี อำเภอบ้านนาเดิม จังหวัดสุราษฎร์ธานี ซึ่งเมื่อทราบว่ามหาวิทยาลัยราชภัฏสุราษฎร์ธานี เป็นศูนย์ศึกษาและประสานงานด้านมนุษยชน ภาคใต้ ก็ได้นำชาวบ้านที่ประสบปัญหาเรื่องที่ดินทำกินของภาครัฐที่ไม่ชัดเจน มายื่นเรื่องเอกสารกับทางคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ภาคใต้ โดยได้เปิดเผยว่า เรื่องที่นำมายื่นในครั้งนี้ มีทั้งเรื่องสิทธิมนุษยชนที่เคยนำขึ้นไปร้องเรียนที่สำนักงานคณะกรรมการมนุษยชนแห่งชาติ ณ กรุงเทพมหานคร มาก่อนแล้ว และเรื่องที่ไม่เคยยื่นเสนอมาก่อน ในโอกาสนี้จึงเป็นวาระอันดีที่ประชาชนในท้องถิ่นสามารถมายื่นเอกสารได้อย่างสะดวก รวดเร็วประหยัดค่าใช้จ่ายมากยิ่งขึ้น และหากเป็นไปได้อยากขอความช่วยเหลือจากผู้เกี่ยวข้องลงพื้นที่จริงเพื่อหาข้อเท็จจริงและแก้ไขปัญหาร่วมกัน
สำหรับศูนย์ศึกษาและประสานงานด้านมนุษยชน ภาคใต้ ณ คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏสุราษฎร์ธานี เปิดให้บริการอย่างเป็นทางการตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไป พร้อมเป็นที่พึ่งให้แก่ประชาชนในชุมชนท้องถิ่นและตลอดจนประชาชนในภาคใต้ มีบทบาทหน้าที่ร่วมสร้างความรู้ ความเข้าใจสิทธิมนุษยชนในพื้นที่ รับเรื่องร้องเรียนเกี่ยวกับการละเมิดสิทธิมนุษยชนเพื่อเสนอคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติพิจารณา ประสานการคุ้มครองสิทธิมนุษยชนเบื้องต้นในพื้นที่ เป็นศูนย์รวมข้อมูล วิเคราะห์ข้อมูล ศึกษาวิจัย เพื่อแก้ไขปัญหาสิทธิมนุษยชนชน ส่งเสริมกิจกรรมและระดมพลังภาคีเครือข่ายสิทธิมนุษยชนในพื้นที่เพื่อปฏิบัติงานด้านสิทธิมนุษยชน
กนกรัตน์ ศรียาภัย นักประชาสัมพันธ์ / ข่าว
2017-08-07